วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

รีวิวประกันโรคมะเร็ง ทำไมต้องทำ ประกันภัยโรคมะเร็ง ??

เรื่องมะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัว
ปัจจุบันผู้เขียนเองก็มีคุณแม่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ซึ่งมีการแพร่ไปสู่ตับแล้ว
ดังนั้นจึงลองย้อนมารีวิวดูประกันโรคมะเร็งว่าความคุ้มครองที่ได้นั้นมันช่วยบรรเทาแบ่งเบาภาระอะไรได้บ้าง  สำหรับคนที่เป็นมะเร็งแล้ว จะมาทำประกันตอนที่เป็นแล้วนั้นไม่ได้ แต่ลองมารีวิวดูว่าถ้าย้อนกลับไปได้ จะทำประกันมะเร็งตอนที่ตรวจไม่พบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่


ประกันโรคมะเร็งนั้นมีหลักการว่า เจอ จ่าย จบ
นั้นคือ ทำประกันโรคมะเร็งไว้ หากตรวจเจอในช่วงที่ประกันคุ้มครองอยู่ (ปกติคิดว่ากรมธรรม์น่าจะคุ้มครอง 1 ปีแล้วต่ออายุเรื่อยๆ) ก็จะจ่ายสินไหมตามระบุในกรมธรรม์ แล้วก็จบ
จบในที่นี้คือ กรมธรรม์สิ้นสุดลงทันที หากจะเป็นมะเร็งอื่นๆ ในปีเดียวกัน ก็ไม่จ่ายเพิ่มแล้ว ตรงนี้ต่างกับประกันรถยนต์ ที่ในเวลา 1 ปี ชนกี่ครั้งก็ยังคุ้มครอง ในวงเงินที่ระบุไว้ในตาราง แต่ประกันมะเร็งจ่ายแล้วจบกันเลย ซึ่งเหมือนประกันชีวิต คือตายแล้วก็จ่ายสินไหมก็จบ จะมาตายอีกครั้งไม่ได้แล้ว


ประกันโรคมะเร็ง เบี้ยที่จ่ายอยู่ที่ประมาณ 
6 พันปลายๆ ถึง 2 หมื่นต้นๆ ต่อปี สำหรับทุน 8 แสน- 1 ล้าน ขึ้นอยู่กับอายุผู้ทำประกัน

คิดว่าหากได้สินไหมจากกรมธรรม์นี้มา 8 แสน - 1 ล้าน ช่วยแบ่งเบาภาระอะไรได้บ้าง

1. เรื่องค่ายานอกเหนือจากสิทธิ์การรักษาที่ได้ 
สำหรับคนที่ป่วยเป็นมะเร็ง ต้องดูว่ามีสิทธิ์การรักษาอะไรได้บ้าง สิทธิ์ 30 บาท สิทธิ์ข้าราชการ แต่ละสิทธิ์การเข้าถึงยาคีโมเพื่อรักษานั้นต่างกัน
เช่น ผู้ป่วยข้าราชการที่เป็นมะเร็งเต้านม สามารถเข้าถึงยา herceptin ได้แบบมีเงื่อนไขที่หมอเจ้าของไข้ต้องส่งเรื่องเบิกกับหน่วยงานที่ควบคุม เป็นต้น

แต่ผู้ป่วยสิทธิ์อื่น น่าจะต้องจ่ายเงินเองสำหรับยานี้ ดังนั้นเงินส่วนนี้ก็สามารถช่วยบรรเทาค่ายาที่เบิกตามสิทธิ์ไม่ได้ แต่วงเงินตรงนี้เมื่อเทียบกับค่ายาคีโม สำหรับรักษามะเร็ง
 - herceptin (ข้าราชการอาจเบิกยานี้ได้) ประมาณ 100,000 บาท ต่อครั้ง ให้ 3 สัปดาห์ครั้ง (มนุษย์เงินเดือน เงินยังไม่ออกก็ต้องหามาจ่ายค่ายาอีกรอบ)
 - pertuzumab (ยานี้ยังไม่มีสิทธิ์ไหนเบิกได้) ประมาณ 200,000 บาท ต่อครั้ง ให้ 3 สัปดาห์ครั้ง (ยาคีโมสำหรับรักษามะเร็ง ส่วนมากมีผลทดลองที่ดี ในเวลา 3 สัปดาห์ครั้ง คอร์สการให้ยาจึงกำหนดมาแบบนี้)

ที่ยกตัวอย่างมา จึงเห็นได้ว่าสินไหมที่ได้ ช่วยบรรเทาได้เพียงเล็กน้อยมาก เทียบกับวงเงินที่ได้ 8 แสน (ให้ยาไม่กี่ครั้งก็หมด)แต่ตัวอย่างที่ยกมาค่อนข้างเป็นมะเร็งที่รุนแรง ระยะสุดท้าย แต่หากเป็นมะเร็งระยะต้นๆ ที่สามารถผ่าตัดหายขาด ก็อาจไม่มีรายจ่ายที่ต่อเนื่อง และการใช้ยาในสิทธิ์ที่เบิกได้ก็อาจเพียงพอ เป็นต้น

2. เรื่องอาหารเสริม 
ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ระหว่างได้รับยาคีโม หรือผ่าตัด อาจต้องให้อาหารที่ดีกว่าปกติ เพราะผู้ป่วยมักจะไม่กินอาหารแบบคนปกติ
ข้อเท็จจริงแล้ว การรับประทานอาหารทั่วๆ ไปสำหรับคนเป็นมะเร็งนั้นได้สารอาหารที่เพียงพอ แต่ในระหว่างการรักษาตัวด้วยคีโม ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงคือ การเบื่ออาหารจากผลของยาคีโม ทำให้ต้องได้รับอาหารที่นอกเหนือจากคนทั่วไปรับประทาน

โปรตีนจำเป็นมากสำหรับระหว่างรับยาคีโม (ควรได้ 1กรัม ต่อ นน.ตัว 1 kg เช่น หนัก 60 kg ควรได้โปรตีน 60 กรัมใน1 วัน ลองคิดดูถ้ากินไข่ขาวต้มอย่างเดียว ต้องกินถึง 15 ฟอง ต่อวัน เพราะไข่ขาว 1 ฟองให้โปรตีน 4 กรัม) ไม่ใช่เพราะโปรตีนทำให้มะเร็งดีขึ้น แต่ระหว่างรับยาคีโม โปรตีนจำเป็นสำหรับสร้างเม็ดเลือด เนื่องจากคีโมทำลายเซลเม็ดเลือดขาวที่ปกติด้วย หากโปรตีนไม่เพียงพอสำหรับสร้างเม็ดเลือด เมื่อถึงกำหนดเวลารับยา แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อดูเม็ดเลือดว่าต่ำหรือไม่ หากต่ำก็ต้องเลื่อนเวลารับยาออกไป ทำให้การรักษาไม่เป็นไปตามกำหนด ไม่เป็นไปตามคอร์สปกติเป็นต้น เมื่อผู้ป่วยกินโปรตีนได้น้อยก็ต้องไปหานมที่มีโปรตีนสูง หาไข่ขาวผงมาบำรุง ส่วนนี้คือรายจ่ายทั้งนั้น

3. เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย 
เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งบางระยะรักษาไม่หายขาด การใช้ชีวิตต่อไปก็เพื่อรอเวลาเท่านั้น ดังนั้นคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างมีชีวิตอยู่ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีเงินแบ่งเบาภาระตรงนี้เช่น

  • การท่องเที่ยว อยากไปเที่ยวได้ไป
  • การรักษาแบบทางเลือก อาจไม่ได้ทำให้โรคดีขึ้น แต่คนไทยมักจะเชื่อในเรื่องนี้ การได้รับการรักษาแบบนี้ก็เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย คือ สุขภาพจิตดีขึ้น เงินตรงนี้เบิกจากสิทธิ์อะไรไม่ได้ ต้องมีเงินสำรองไว้


4. แบ่งเบาภาระของลูกหลาน
ตรงนี้คงทราบกันดี หากมีหนีสิ้น มีลูกหลานที่ยังต้องเรียน ยังมีภาระ การได้เงินชดเชยก็ช่วยตรงนี้ได้


ที่กล่าวมาหากย้อนไปได้คงทำประกันมะเร็งไว้ให้คนที่เรารัก และควรทำให้ตัวเอง แต่ต้องดูทุนประกันด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ผมคิดว่าอย่างน้อยควรได้ 2 ล้าน เพราะค่ารักษาที่เป็นยาคีโมตัวใหม่ๆ ที่ออกมานั้น เป็นยานอกบัญชีซึ่งเบิกไม่ได้ และแพงเหลือเกิน ตก 2 แสนต่อ 3 สัปดาห์ และบางเคสต้องให้ไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนดว่าจะหยุดเมื่อไหร่ กลายเป็นภาระประจำที่ต้องแบกรับไปเรื่อยๆ

แต่เท่าที่ดูมีวงเงินสูงสุดแค่ 1 ล้านเท่านั้น (บรรเทา=ไม่ได้ช่วยเต็ม 100%) และวงเงินทุนประกัน 1 ล้าน เบี้ยประกันก็แพงพอสมควร ยิ่งทำตอนอายุเยอะๆ เบี้ยต่อปีแพงมากหมื่นปลายๆ เกือบสองหมื่นต่อปีเข้าไปแล้ว หากต้องการทุนมากกว่า 1 ล้านคิดว่าน่าจะทำรวมๆกันหลายที่ได้

ตารางประกันโรคมะเร็งทิพยประกันภัย





ประกันโรคมะเร็งสินมั่นคง




 ประกันโรคมะเร็งกรุงเทพประกันภัย

เงื่อนประกันมะเร็งของกรุงเทพประกันภัยสำคัญๆ ที่ควรรู้

  • คุ้มครองได้ต่อเนื่องจนครบอายุ 65 ปี
  • ผู้เริ่มเอาประกันจะทำประกันได้ต้องอายุระหว่าง 10-60 ปี
  • ยกเว้น กรณีที่มีหลักฐานทางพยาธิแพทย์ระบุว่าเริ่มเป็นโรคมะเร็งทุกชนิดมาก่อนเอาประกันภัยหรือ ภายในระยะ 90 วัน หลังจากวันที่เริ่มต้นเอาประกันภัยในปีแรก
  • ยกเว้น โรคหรือเนื้องอกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสืบเนื่องจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงเชื้อ H.I.V. และมะเร็งผิวหนัง
  • เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ยังสุขภาพดีและต้องการประกันความเสี่ยงในค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดโรค
  • เมื่อพบจ่ายครบ 100% ทันที
  • เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ด้วยราคาเบี้ยประกันคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น (fix rate คือ เบี้ยปีต่ออายุเท่ากับเบี้ยปีแรก ไม่ได้เพิ่มตามอายุ) บางบริษัทจะไม่ fix rate คือเบี้ยปีต่ออายุเพิ่มขึ้น ตามอายุ โดยดูตามตาราง เป็นต้น
  • ไม่ต้องตรวจสุขภาพ เริ่มคุ้มครองทันทีเมื่อระบบอนุมัติ
---

   - ประกันมะเร็ง สมัครง่าย จ่ายจริง 
รับประกันโดย aia ประกันตัวนี้ค่อนข้างซับซ้อนในการจ่ายเงินสินไหม โดยแบ่งระยะลุกลาม กับไม่ลุกลาม แยกกัน หากตรวจพบตอนระยะไม่ลุกลาม ได้ไม่เต็มทุนประกัน โปรดศึกษาก่อนทำประกันที่ซับซ้อนของ aia แบบนี้
จากตารางด้านบนสมมติทำแผน 2 ส่งเบี้ยไปถึงปีที่ 5 จะได้ทุนประกัน 1 ล้าน แต่หากในปีนี้ตรวจพบมะเร็งแบบไม่ลุกลาม จะได้สินไหม แค่ 1 แสนเท่านั้น แล้วพอพ้น 5 ปี บริษัทรับต่ออายุหรือไม่ ให้ทุนเท่าไหร่ จ่ายเบี้ยเท่าไหร่ สิ่งนี้ควรถามก่อนทำ เพราะจากปีที่ 5 เป็นแบบไม่ลุกลาม ปีที่ 7-9 อาจเป็นแบบลุกลามที่ควรจะได้สินไหม 9 แสนที่เหลือ แต่บริษัทรับต่อหลังครบ 5 ปีหรือไม่ 
ที่บอกว่าคุ้มครองต่อเนื่องสำหรับระยะลุกลามคือ ต่อเนื่องแค่ใน 1-5 ปีตามสัญญากรมธรรม์ หรือ หลังจากปีที่ 5 ก็รับต่ออายุ โปรดระวังข้อนี้ให้มาก เพราะจะเปลี่ยนจากระยะไม่ลุกลาม เป็นลุกลาม ใช้เวลานานหรือไม่ ขึ้นกับหลายอย่าง เช่น ชนิดของมะเร็ง การได้รับการรักษา เป็นต้น

   - หากมีประกันมะเร็ง จ่ายเบี้ยปีต่อปี ให้เลือก ระหว่าง 
   1. เบี้ยคงที่ตลอด ปีต่ออายุจ่ายเท่ากับปีแรกเข้า เช่น เริ่มทำปีแรกตอนอายุ 35 ปี จ่ายเบี้ยปีแรก 6000 บาท ในปีต่ออายุ ก็จ่ายแค่ 6000 บาท ทุกปี ไปจน 60 หรือ 65 ปีจนประกันไม่รับต่อ เป็นต้น
   2. ประกันมะเร็งไม่เคลม มีคืน หรือมีส่วนลด เช่น ปีแรกจ่าย 6000 บาท ไม่เคลม ปีที่สองจ่าย 5400 บาท คือมีเงินส่วนลด หรือ เงินคืนให้ 10 % แต่เบี้ยไม่fix เป็นอัตราเพิ่มตามอายุ เช่น พออายุสัก 60 ปี อาจต้องจ่ายถึงปีละ 20000 บาทต่อปี เป็นต้น

คุณจะเลือกแบบไหน????
สำหรับผมเลือกแบบ เบี้ย fix ไม่เปลี่ยนตามอายุ คือจ่ายเท่าปีแรกเข้า เพราะ
   1. หากต่ออายุไปเรื่อยๆ ตอนแก่ๆ จะจ่ายเบี้ยแบบ fix ถูกกว่ามาก
   2. แพกเกจพวกนี้ เบี้ยจ่ายปีต่อปี สมมติคุณดูตารางแผนประกันแล้ว แบบไม่ fix  ตอน 30 ปี จ่ายเบี้ยปีละ 6000 บาท ตอน 50 ปี จ่าย 12000 บาท แต่อาจมีส่วนลด หรือไม่เคลมมีคืน แล้วคิดว่าคุ้ม ผ่านไปสัก 5 ปี ประกันเปลี่ยนแผนเนื่องจาก ขาดทุนมาก ออกแพกเกจใหม่อัตราเบี้ยใหม่ ตารางใหม่ พออายุ 50 ปรับเบี้ยเป็น 20000 แบบนี้ จะไม่คุ้ม สู้เบี้ยคงที่ไม่ได้ 


ลองศึกษา และตัดสินใจดูครับ ว่าท่านจะทำประกันมะเร็ง ประกันโรคมะเร็ง หรือประกันภัยมะเร็ง ตัวนี้หรือไม่ ???

เรียนรู้เรื่องการปฏิเสธจ่ายสินไหมประกันชีวิต AIA

วันนี้ได้รับการแชร์ จดหมายการปฏิเสธการจ่ายสินไหมให้แก่ผู้รับประโยชน์ จึงเอามาบอกต่อไว้เป็นกรณีศึกษา และดูข้อที่ประกันยกมาเป็นเหตุให้ปฏิเสธ

เนื้อความแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิต พร้อมหักมุมด้วยการแสดงความปฏิเสธสัญญาและการจ่ายสินไหม ใครได้รับและเปิดอ่านจดหมายคนแรกถึงตรงนี้คงมือสั่น

โดยเหตุผลคือ สุขภาพไม่ผ่านเกณฑ์ ที่จะรับทำประกัน นั่นแปลว่า

1. ถึงไม่มีการตรวจสุขภาพก่อนทำประกัน ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีเกณฑ์เรื่องสุขภาพ
2. ในใบคำขอ ต้องกรอกข้อมูลสุขภาพตามความจริง
3. หากย้อนเวลาได้ไปจุดที่รับประกัน ถ้าบริษัททราบความจริงเรื่องโรคประจำตัวที่เป็น เบาหวาน ความดัน จะไม่รับประกันภัยเคสนี้ ดังนั้นสัญญาจึงตกโมฆียะ และคืนค่าเบี้ยประกัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ แม้การโฆษณา จะประกาศ โต้งๆไปว่า ไม่ตรวจสุขภาพ แต่ก็มีเกณฑ์เรื่องสุขภาพในการพิจารณา รับ ไม่รับ. ใครจะทำประกันตามที่โฆษณากันในทีวี ประกันทำง่าย ไม่ตรวจสุขภาพ. แต่ตายแล้วอาจจะเคลมไม่ได้นะครับ
---
เรามาดูจดหมายชี้แจง กรณีข้างต้นจาก aia 

อ่านดูก็ได้ความรู้อีกว่า มีทั้งกรมธรรม์ ประกันชีวิตที่
- ต้องตรวจสุขภาพ
- ไม่ต้องตรวจ แต่ต้องแถลง ข้อมูลสุขภาพในใบคำขอ
- ไม่ต้องตรวจ และตอบคำถามสุขภาพ

อืมเอากับเค้าสิ มีกรมธรรม์ ที่ไม่ต้องตรวจ และไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพด้วย อยากจะรู้แล้วสิ มันคุ้มครองอะไร อย่างไร ป้องกันการฉ้อฉลวิธีไหน ระยะเวลารอคอยเท่าใด